วิสัยทัศน์ร่วม เชื่อมโรงเรียนกับชุมชน 

“เมื่อพูดถึงไอเดียของการให้โรงเรียนทำงานกับชุมชน ตอนแรกไม่เห็นภาพเลยค่ะ ว่ามันจะออกมาหน้าตาอย่างไร” “ครูอุมมี่” - อุมมีฮานีย์ ดีแย ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 10 ที่โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ กรุงเทพ ฯ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน (Collective Vision) กล่าว

     “ครูแบงค์” – มฆวัน พงษ์วชิรินทร์ ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 10 ที่โรงเรียนมักกะสันพิทยามีความเห็นในลักษณะเดียวกัน “ก่อนที่จะได้เข้าร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เราก็ยังเห็นภาพไม่ชัดจะสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนอย่างไร”

     เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “ครูแบงค์” ร่วมกับ “ก่อการครูกรุงเทพมหานคร” จัดกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (collective vision) ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยมี “ครูอุมมี่” เข้าร่วมด้วย

     “จุดเริ่มต้นมาจากการได้พูดคุยกับ “ครูเก๋” – สุดารัตน์ ประกอบมัย จากโครงการก่อการครู เห็นว่าเรากำลังต้องการสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ให้ครูในละแวกใกล้เคียงกันแลกเปลี่ยนความรู้และเครื่องมือ ซึ่งเราเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในตัวนักเรียน” 

น้ำกรอง กำลังอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

     ผลจากกิจกรรมดังกล่าว คือการบูรณาการการศึกษาเข้ากับบริบทชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น การสอนวิชาประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ผ่านความร่วมมือกับวัด ให้นักเรียนสัมภาษณ์และผลิตคลิปวิดีโอสั้นเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน 

     “นอกจากนักเรียนจะรู้สึกว้าวกับของดีในชุมชนที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ประวัติศาสตร์ที่มาของชุมชน และประเพณีแข่งเรือ คนในชุมชนก็รู้สึกได้รับเกียรติและมีความสำคัญ จึงยิ่งต้องการสนับสนุนนักเรียนผ่านการแบ่งปันความรู้และให้ความร่วมมือทำจัดกิจกรรม” 

     นอกจากนี้ การมีวิสัยทัศน์ร่วมยังช่วยสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ซึ่งได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อพัฒนานักเรียนและโรงเรียน

     วิสัยทัศน์ร่วมไม่เพียงแค่ช่วยพัฒนาการศึกษา แต่ยังสร้างความผูกพันและความเข้าใจระหว่างผู้คนในพื้นที่อีกด้วย ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของนักเรียน ช่วยให้พวกเขามองเห็นโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาตนเอง รวมถึงการเข้าใจคุณค่าและบทบาทของชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

     ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้วันหนึ่ง เด็กในประเทศไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตนเองได้

     ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนครูแบงค์และครูอุมมี่ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ที่นี่ https://tft-fellowship.org