เครือข่ายที่เข้มแข็ง สู่การผลักดันนโยบายอย่างยั่งยืน

“ผมมองว่าถ้าเราอยากจะทำงานด้านนโยบายเราต้องมาสัมผัสกับบริบทหรือปัญหาจริง นี่คือความคาดหวังแรกตอนเป็นครูเหมือนกัน เราได้ยินเรื่องความเหลื่อมล้ำมาตลอด แต่มันเป็นนามธรรม พอได้มาอยู่กับชุมชนชาวเขา ได้คลุกคลีกับเด็กๆ ที่โรงเรียน เราก็ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ (กรุงเทพ) และได้เห็นตัวอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำจริงๆ”

หนึ่งในบทบาทของ “นฬ”– ชิตะ จิรานันตรัตน์ ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 7 คือการเป็นผู้ประสานงานร่วมประจำประเทศไทย เครือข่าย “Global Youth Biodiversity Network (GYBN)” ซึ่งมุ่งผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการมีส่วนร่วมของเยาวชน

     นอกจากนี้ นฬก็ได้เป็นตัวแทนเยาวชนในเครือข่ายดังกล่าว เข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็น “(ร่าง) แผนการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จัดโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

     “GYBN ได้รับการยอมรับโดยอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (The United Nations: UN) เพื่อผลักดันนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ เครือข่ายนี้มีความเข้มแข็งในเรื่องนโยบายที่สุดแล้ว” 

      นฬเล่าให้ฟังถึงหัวใจในการทำงานนโยบายร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ว่า 

     “จริงๆ การทำงานนโยบายคือการสร้างพื้นที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน และกลุ่มเยาวชน ให้ทำงานร่วมกัน เมื่อภาครัฐไว้ใจการทำงานของเรามากพอ เขาก็จะเห็นศักยภาพ เห็นคุณค่า และได้ยินเสียงของเรามากขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็จะได้ทำงานร่วมกัน เข้าใจ และได้รับประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด”

น้ำกรอง กำลังอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

นฬ เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เครดิตรูปภาพ : GYBN Thailand)

     หน้าที่ของนฬคือการประสานงานเพื่อให้เกิดการรับฟัง การมีส่วนร่วม และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งก็พบเจอกับความท้าทายทั้งในแง่การผลักดันนโยบายและการทำงานร่วมกับคนหลากหลาย นฬจึงได้นำทักษะจากการเป็นคุณครูที่จังหวัดเชียงรายมาใช้

     “ความใจเย็นและอดทน เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับการทำนโยบาย เพราะการดำเนินงานต่างๆ ใช้เวลาอย่างต่ำราว 2-3 ปี เช่นเดียวกับตอนที่เป็นครู เราบอกไม่ได้เลยว่า นักเรียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หรืออาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลยภายใน 1-2 ปีนั้น แต่ในระหว่างทางเรายังหาความสุขเล็กๆ เช่น ได้เห็นนักเรียนสนุกในคาบเรียนที่เราออกแบบ ส่วนในภาพใหญ่เรายังคงมีเป้าหมายเช่นเดิม”

     การเข้าอกเข้าใจคนอื่น (empathy) ก็ช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก 

นฬเข้าร่วมให้ความคิดเห็นในฐานะเยาวชน งาน Local Conference of Youth (LCOY) Central 2023

     “เวลาพูดถึงปัญหาในประเทศไทยหรือการทำงานกับหน่วยงานรัฐ เรามักเกิดคำถามว่า ‘ทำไมไม่ทำให้ดีขึ้นกว่านี้’ แต่พอเข้าไปทำงานจริงต้องมีความใจเย็น พยายามเข้าใจในบริบทหรือข้อจำกัดของเขาเช่นเดียวกัน”

      “วิธีการไปต่อ คือการเชื่อมคนให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน เพราะบางคนก็มีความพร้อมในการสนับสนุนและยอมเปิดใจรับฟัง เราจึงจำเป็นต้องหาจุดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดการผลักดันในระยะยาว”  

      นอกจากการทำงานด้านนโยบาย นฬยังคงรักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้การ์ดเกม “Climate Fresk” เป็นเครื่องมือจัดกิจกรรมอบรมด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม 

“Climate Fresk” เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

     “ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการสร้างแรงผลักดันที่ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมาก คือ การสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้น ผมและเครือข่ายจึงได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและเวทีเสวนาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนังโลกรวน หรืองานดนตรีสีเขียว” 

     สิ่งที่นฬทำมาจากรากฐานความเชื่อที่ว่า เราเคยเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ที่ได้รับผลจากปัญหา แต่เมื่อเรียนรู้และเติบโตขึ้นเราก็สามารถเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ริเริ่ม ชักชวน และสร้างเครือข่ายที่อยากลงมือแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ในระยะยาว 

     ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ที่นี่ https://tft-fellowship.org