การเปิดพื้นที่รับฟัง คือจุดเริ่มสร้างความเปลี่ยนเแปลงแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

“ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ผมจะถามผู้ปกครองว่า ถ้าวันหนึ่ง ผมชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาร่วมคุยกับโรงเรียนเพื่อให้ลูกหลานของเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ ผู้ปกครองจะเข้ามาร่วมไหม คำตอบที่ได้ คือ พวกเขาอยากมาร่วมด้วย 100%” ‘ครูแบงค์’ – มฆวัน พงษ์วชิรินทร์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 10 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงเรียนมักกะสันพิทยา จังหวัดกรุงเทพมหานคร เล่าถึงประสบการณ์การเยี่ยมบ้านครั้งแรกด้วยความตื่นเต้น

     “ผมมองว่าต่อให้ครูดีแค่ไหน แต่เมื่อนักเรียนกลับบ้านไปก็ต้องเจอพ่อแม่” ครูแบงค์กล่าว 

     “หากพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและอาชีพ จะทำให้ตัวเด็กโดนปลูกฝังเรื่องการตั้งใจเรียน การประพฤติตนให้เหมาะสม การไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทำให้ตัวเด็กมีทัศนคติ มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และอาจจะทำให้ตัวเด็กมองเห็นความสำคัญของการตื่นไปเรียนในแต่ละวันก็เป็นได้”

     สิ่งที่ครูแบงค์กล่าวสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการออกแบบการศึกษาของนักเรียน

     หลังจากที่เข้ามาเป็นครูประจำชั้นได้เทอมแรก ครูประจำชั้นในโรงเรียนก็ได้รับมอบหมายให้เยี่ยมบ้านนักเรียนทุกบ้านตามนโยบาย ครูแบงค์ จึงได้ออกแบบวิธีการเยี่ยมบ้านนักเรียนชั้นม. 1 ที่ตนประจำชั้นอยู่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง

     “พอผมได้รับโอกาสในการเยี่ยมบ้าน ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการรับฟังว่าเขามีทัศนคติต่อลูก ต่อโรงเรียนอย่างไร  ผมเลยเตรียมคำถามเพื่อให้เขาแชร์ทัศนคติมากที่สุด” 

     นอกจากการคำถาม ครูแบงค์ยังใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้ปกครองทุกบ้าน บ้านละ 30 นาที เพราะอยากที่จะรับฟังและเข้าใจความต้องการของผู้ปกครองให้ได้มากที่สุด 

     “คำถามที่ผมใช้บ่อยในการถามผู้ปกครอง คือ: 

  1. คิดว่าโรงเรียนนี้ นักเรียนมีปัญหาอะไร ที่จำเป็นต้องแก้ไข
  2. คุณอยากทำอะไร หรืออยากให้โรงเรียน นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกอย่างไร 
  3. ในอนาคต ถ้ามีโอกาส สนใจมาร่วมพูดคุยหาทางออกร่วมกัน หาวิสัยทัศน์ร่วมกันกับโรงเรียนหรือไม่ 
  4. ผู้ปกครองรู้ไหมว่าลูกอยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคต หรืออยากเป็นอะไร 
  5. ผู้ปกครองอยากให้ลูกของตัวเองเป็นแบบไหนในอนาคต แล้วคิดว่าจะทำยังไงถึงจะช่วยลูกของเราได้

     “ผมพบว่าคำตอบมี 2 แบบ แบบแรกคือ ผู้ปกครองประมาณ 10% ที่ไม่ได้คาดหวังกับลูกมากนัก เช่น อยากให้ลูกเป็นคนดี เรียนให้จบก็พอ” 

     “แต่อีกประมาณ 90% มีความคาดหวังต่อลูก อยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี เรียนสูงๆ มีอาชีพการงานที่ดี ซึ่งมันทำให้คนเป็นครูอย่างผมเข้าใจว่าถึงแม้พวกเขาจะอยู่ในสถานที่ หรือบริบทที่ท้าทายขนาดไหน แต่ผู้ปกครองหลายท่านก็ไม่รู้สึกย่อท้อหรือล้มเลิกความหวังที่มีต่อลูกของเขา พวกเขายังคงอยากเห็นลูกของพวกเขาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นคนดี และได้วุฒิการศึกษาเพื่อนำไปประกอบอาชีพที่หาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต” 

     การเยี่ยมบ้านไม่เพียงทำให้ครูแบงค์เข้าใจทัศนคติของผู้ปกครองมากขึ้น แต่ยังเปลี่ยนทัศนคติของตัวเขา รวมถึงวิธีการจัดการห้องเรียนไปด้วยเช่นกัน 

     “ผมไปเยี่ยมบ้านเป็นครั้งแรกในชีวิต ยอมรับว่าค่อนข้าง Culture Shock ในหลายๆ อย่างจากการที่เห็นสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของนักเรียน สิ่งนี้ทำให้ผมกลับมามองวิธีการสอนของผม ผมไม่อยากสั่งการบ้าน แต่พยายามที่จะช่วยเขาทำงานให้เสร็จที่โรงเรียนเลย ไม่อยากเพิ่มภาระให้เขา”

     ถึงแม้ว่าการเยี่ยมบ้าน จะทำได้แค่ปีละ 1 ครั้ง แต่ครูแบงค์ก็ไม่เคยย่อท้อที่จะพยายามหาโอกาส หรือเปิดพื้นที่รับฟังเสียงและความต้องการของผู้ปกครองให้มากที่สุด โดยเริ่มต้นจากงานประชุมผู้ปกครองครั้งที่ผ่านมา 

     “ผมขอช่วงเวลาตอนท้ายในการประชาสัมพันธ์ แจกแบบสอบถามเล็กๆ ว่า ‘จากเมื่อก่อนจนถึงตอนนี้ ผู้ปกครองเห็นนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง’ และ ‘สิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวังจากตัวนักเรียนคืออะไร’” 

     “คำตอบของผู้ปกครองบางท่านก็ทำให้ผมเรียนรู้ว่า ลูกๆ ของเขาก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น ตอนนี้ลูกกล้าที่จะถามและมีเรื่องเล่ามากขึ้น” 

     แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ครูผู้นำฯ จะปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเพียงแค่ 2 ปี แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ดังเช่นความพยายามของครูแบงค์ ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่มีความหมาย อย่างการรับฟังความต้องการและความคาดหวังของผู้ปกครอง ซึ่งสามารถนำไปสู่การออกแบบวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาอย่างยั่งยืนและมีทิศทางที่ชัดเจนในอนาคตได้

     ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อระบบการศึกษาไทย เพื่อให้วันหนึ่ง เด็กในประเทศไทยทุกคนได้รับการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาค และสามารถกำหนดอนาคตของตนเอง ที่นี่