10 ปีแห่งผู้นำด้านการศึกษา สู่บทบาทกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.
เครือข่ายศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือกลุ่มผู้นำที่ยึดมั่นในการพัฒนาเด็กในประเทศไทย และมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพผ่านอาชีพต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ “ยีราฟ” - สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์รุ่นที่ 1 ผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์” (Saturday School Foundation) ด้วยความต้องการให้เด็กไทยได้ค้นพบศักยภาพสูงสุดของตนเอง ผ่านการดึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ได้จัดงานครบรอบ 10 ปี “Saturday School: Growing Together เดินหน้าสร้างโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน” ภายในงานได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงศักยภาพบนเวที และนำเสนอความสำเร็จในการเรียนรู้ของตนเอง
“เป็นงานที่ทำให้รู้สึกเติมเต็มและมีพลังมากๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พวกเราเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งต่อเด็กและอาสาสมัคร พวกเขาสะท้อนว่าพื้นที่ตรงนี้มีคุณค่า ได้เพื่อน ได้แลกเปลี่ยน สิ่งสำคัญคือทุกคนต่างได้พัฒนาศักยภาพและเติบโตไปด้วยกัน”
ปัจจุบัน มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์มีอาสาสมัครทั้งสิ้น 5,283 คน มีนักเรียนที่ร่วมเรียนรู้พัฒนาศักยภาพ 18,043 คน และได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ โครงการ Saturday School Bangkok ร่วมกับสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร (BMA) เปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ 50 ห้องเรียน เพิ่มพื้นที่กิจกรรมหลังเลิกเรียน และโครงการ Saturday School Expansion ขยายการทำงานไปยัง 6 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคกลางตอนบน
“ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากการเข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ คือนักเรียนโรงเรียนวัดพระยายังสอบผ่าน O-NET วิชาภาษาอังกฤษครั้งแรกในรอบ 9 ปี จากการสอน 8-16 ชั่วโมงในหนึ่งเทอมของกลุ่มอาสาสมัคร”
“นอกจากนี้ ยังมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียน และนำไปต่อ ยอดเปิดชมรมที่หลากหลายมากขึ้นในโรงเรียนด้วย”
ประตูแห่งโอกาสมักเปิดให้คนที่ลงมือทำเสมอ ปัจจุบัน ยีราฟได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ยีราฟเล่าว่า “ได้รับการชักชวนเพราะการทำหน้าที่สำคัญในมูลนิธิฯ ตลอด 10 ปี เราเห็นปัญหาทางการศึกษาและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเรามีประสบการณ์ที่สามารถเอาไปใช้กับเด็กๆ และกลุ่มคุณครูได้ด้วย”
บทบาทใหม่ในองค์กรระดับประเทศ รวมไปถึงเครื่องมือและองค์ความรู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ยิ่งทำให้ยีราฟเชื่อมั่นว่า ตนจะมีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเด็กในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนการศึกษาในอนาคต
ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ต่างมุ่งขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย จากหนึ่งห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
ร่วมสนับสนุนมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เพื่อสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตนเองได้ ที่นี่