ร่วมทำเพื่อความยั่งยืน: พัฒนาการศึกษากับภาครัฐและเอกชน
ผู้ปกครองหย่าร้าง ทำให้เด็กต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยหรือต้องอยู่กับตายาย รวมไปถึงเรื่องยาเสพติด นี่คือตัวอย่างปัญหาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรีต้องการแก้ไข เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคให้เด็กไทย และพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกัน ล่าสุด มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และอบจ. ปราจีนบุรี ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาด้านวิชาการสำหรับเด็กนักเรียน และการจัดให้มีครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาสองปีในสามโรงเรียนภายใต้สังกัด อบจ.
“เด็กนักเรียนของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กชนบท เราไม่สามารถคัดเด็กเก่งได้ จึงมีเด็กทุกรูปแบบ เช่น อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือมีปัญหาครอบครัว” นางพนิดา จันทวงศ์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ. ปราจีนบุรี เล่าถึงบริบท
“ตอนแรกไม่รู้จักทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เลย แต่โรงเรียนต้องหาทุนและหาคนมาทดแทนคุณครูที่ขาดแคลน”
ขณะปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน ผอ.พนิดาค้นพบความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นก็คือการร่วมมือระหว่างอบจ. กับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ผ่านคำแนะนำจากนางสาลี่ เชิดชู ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง หนึ่งในภาคีของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ โดย ผอ.พนิดาได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการสอนของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง
“ตอนนั้นลงไปดูครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในขณะสอนและเห็นผลสัมฤทธิ์การเรียนดีขึ้น ดูจากทั้งผลการเรียนและจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น จากการสอบถาม นักเรียนก็ให้ข้อมูลว่าไม่รู้สึกเกร็งเวลาเรียนและเกิดการยอมรับในตัวครูผู้สอน”
“การสรรหาครูผู้นำฯ ก็น่าประทับใจ แม้ว่าครูเหล่านี้ไม่ได้จบการสอนโดยตรง แต่มีทั้งความตั้งใจและทักษะในการจัดกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยและมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างโรงเรียนกับชุมชน สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองและทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีความหมายมากขึ้น”
“การที่ครูผู้นำฯ เข้ามาช่วยสนับสนุนก็ทำให้เราเยี่ยมบ้านและรับทราบปัญหาของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางชุมชนก็เกิดความไว้วางใจและยอมรับในสถานศึกษาไปด้วย”
“เราเห็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนานักเรียนที่เหมือนกัน เราอยากให้เด็กๆ ได้โอกาสเรียนเหมือนเด็กกลุ่มอื่นๆ เลยสนใจร่วมงานกับมูลนิธิฯ เพื่อขยายโอกาสต่อให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ด้วย”
อบจ. ปราจีนบุรี และทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงได้พัฒนาความร่วมมือเพื่อสรรหาและคัดเลือกครูผู้นำฯ จำนวน 6 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนภายใต้สังกัด อบจ. จำนวน 3 โรงเรียนในภาคเรียนที่กำลังจะมาถึง โดย อบจ. สนับสนุนด้านการเงินบางส่วน และทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ให้การอบรม รวมถึงติดตามการปฏิบัติงานของครูผู้นำตลอด 2 ปีในโครงการฯ
“ทุกโรงเรียนต้องได้รับการศึกษาเหมือนกัน เด็กอยากเรียนอะไรเราก็จะจัดให้เด็กได้เรียน เด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบหรือถนัด” ผอ.พนิดาทิ้งท้าย “ขอบคุณมูลนิธิฯ และผู้สนับสนุนที่ให้ความสนใจเรื่องการศึกษา เพื่อพัฒนาให้เด็กๆ ในท้องถิ่นของเราได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม”
การพัฒนาการศึกษาไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงชุมชน ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาได้จริง
ร่วมพัฒนาการศึกษาไทย เพื่อสักวันหนึ่งเด็กและเยาวชนจะเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตนเองได้ ที่นี่ www.teachforthailand.org