ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จับมือฟอร์ด เตรียมพื้นฐานเด็กไทยสู่อนาคต กับโครงการ Future Ready
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การศึกษาต้องช่วยเสริมสร้างทักษะที่สำคัญให้แก่เด็กและเยาวชน ให้สามารถตอบรับกับความต้องการในตลาดแรงงาน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จึงริเริ่มโครงการ “การศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต” หรือ Future Ready ให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้บริบทตลาดแรงงานจริง เพื่อเป็นแนวทางการเรียนรู้และการสอนทักษะสำคัญที่นำไปใช้ได้
บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) คือหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ผ่าน “ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี” (Ford Philanthropy) ซึ่งสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในโครงการทวิภาคี การมอบทุนผ่านมูลนิธิยุวพัฒน์ และการบริจาคผ่านทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
ในโครงการ Future Ready ฟอร์ดคือผู้สนับสนุนรายแรก ที่อนุญาตให้นักเรียนและครูได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ และฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ สำหรับจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการ Future Ready ได้เข้าชมสายการผลิต และเสวนากับบุคลากรและตัวแทนของบริษัท เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน
ธรรมศักดิ์ อภิบาลวรกุล ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “การให้ความรู้กับครูเพื่อให้ปรับการเรียนการสอนให้สนุกและสอดคล้องกับทักษะที่ใช้จริงในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เราตั้งใจ เพราะเราเชื่อว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กในอนาคตคือการกล้าที่จะค้นคว้าหาความรู้ ใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ”
ครูหลายท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมเห็นด้วยว่า การเข้าชมโรงงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพนักงาน ทำให้เห็นภาพทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการชัดเจนขึ้น
“เราได้เห็นภาพการบริหารจัดการคนให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปต่อ ยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เอื้อต่อตลาดแรงงานได้” หนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าว “การพัฒนาแนวคิดของครูก็ต้องเห็นว่าโลกปัจจุบันต้องเตรียมอะไรบ้าง ให้เห็นจุดหมายปลายทางอย่างไร”
“เราเห็นว่าในโลกปัจจุบัน ทักษะการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ คนที่อยู่รอดในตลาดแรงงานไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่คือคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด”
วัชร เดโชพลชัย ผู้จัดการทีมบริหารข้อมูลของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สรุปว่า “จากที่ได้สะท้อนกัน เห็นว่าการศึกษาจะเป็นรูปแบบครูเป็นศูนย์กลางแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องให้เด็กได้ลงมือทำจริงๆ”
“นอกจากคุณครูได้ประโยชน์แล้ว พนักงานของฟอร์ดที่มาร่วมกิจกรรมก็รู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกว่างานมีความหมายและมีส่วนร่วมในการส่งต่อ”
“ฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มาร่วมวางแผน ก็เห็นภาพคนที่จะมาเป็นพนักงานชัดเจนขึ้น เพราะเด็กที่เข้ามาเยี่ยมชมก็มีโอกาสกลับมาเป็นพนักงาน หรือถ้าการศึกษาดี พนักงานที่เป็นผลลัพธ์จากการศึกษาที่ดีก็จะดีไปด้วย”
“เราหวังว่าโครงการ Future Ready จะช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กไทยในอนาคต และเรายังเชื่อมั่นว่า องค์กรอื่นๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมในวิสัยทัศน์นี้ได้ การที่โรงเรียนและภาคธุรกิจมาทำงานร่วมกันจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอนาคตของการศึกษาไทย”
ร่วมส่งเสริมให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านการสนับสนุนทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้แล้ววันนี้ ที่ www.teachforthailand.org