เพียงอ่านได้ ก็เรียนรู้ไกลกว่าเดิม
“วันการรู้หนังสือสากล” (International Literacy Day) ตรงกับวันที่ 8 กันยายน ของทุกปี ซึ่งจัดตั้งโดยยูเนสโก (UNESCO) เพื่อเน้นความสำคัญของการรู้หนังสือทั้งในเด็ก เยาวชน ชุมชน และสังคมโดยทั่วไป ผลการทดสอบ PISA เมื่อปี พ.ศ. 2565 แสดงถึงทักษะการอ่านที่มีแนวโน้มลดลง (บีบีซี, 2566) ทำให้เห็นว่าภาวะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และการสูญเสียการเรียนรู้ (learning loss) ของเด็กไทยยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อคงความสามารถในการเรียนรู้และเติบโตในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
‘ครูอัซวา’ – กุลภรณ์ ราวัลย์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 ซึ่งสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จังหวัดอยุธยา คืออีกหนึ่งคนที่พบว่าบริบทนักเรียนเริ่มจากการอ่านไม่ออกเช่นกัน
“นักเรียนมัธยมหลายระดับชั้นมีพื้นฐานการเรียนไม่สมช่วงวัย เช่น กว่า 60% ของนักเรียนทั้งห้องอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้หรือรู้คำศัพท์น้อยมาก ไปจนถึงไม่สามารถท่อง A – Z ได้ ครูไม่สามารถสอนตามหนังสือได้เลย
อัซวาค้นพบว่า “ไม่ว่าเราจะสอนไวยากรณ์หรือองค์ความรู้ระดับไหน ถ้านักเรียนอ่านไม่ได้ก็จะรู้สึกบั่นทอน เพราะเรียนไปก็ไม่เข้าหัว อ่านอย่างไรก็อ่านไม่ออก”
นอกจากจะส่งผลถึงความรู้ด้านวิชาการแล้ว การอ่านไม่ออกยังส่งผลใหันักเรียนปิดกั้นต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รับการแก้ไขนักเรียนก็ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ไปโดยปริยาย เพราะขาดทั้งทักษะและทัศนคติที่เหมาะสม
อัซวาจึงคิดใช้การสอนโฟนิกส์ (phonics) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีเรียนอ่านเขียนและออกเสียงภาษาอังกฤษโดยใช้หลักการถอดสระและการประสมคำ (Aksorn.com) โดยใช้เวลา 1 เดือนเต็มในการสร้างห้องเรียนที่นักเรียนกล้าออกเสียงภาษาอังกฤษเสียก่อน
“เราทำข้อตกลงในห้องเรียนไม่ให้หัวเราะเยาะกันเวลาเพื่อนออกเสียง กล้าออกเสียงและให้กำลังใจเพื่อนๆ เพื่อให้ทุกคนมั่นใจที่จะอ่าน” อัซวาเล่า “แรกๆ นักเรียนก็ยังล้อกันและขาดความมั่นใจ แต่พอเขากล้าขึ้นมา ก็พร้อมเรียนรู้และเปิดรับ”
แม้มีเวลาเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง อัซวาก็ให้เวลากับการพัฒนาทักษะและการฝึกออกเสียงอย่างจริงจัง ตั้งแต่การปูพื้นเสียงพยัญชนะและสระภาษาอังกฤษให้ถูกต้องแม่นยำไปจนถึงการประสมคำ จากช่วงแรกที่นักเรียนไม่คุ้นเคยกับวิธีการอ่านภาษาอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไป 2 ภาคเรียนก็เริ่มสนุกที่จะเรียนรู้และสามารถออกเสียง ประสมคำ และอ่านได้ถูกต้อง
และจากแบบสอบถามประเมินการสอนโฟนิกส์ อัซวาพบว่านอกจากนักเรียนจะชอบและอยากเรียนเพิ่มแล้ว ยังมีความสุขจากการเห็นพัฒนาการของตัวเองอีกด้วย “มีนักเรียนกลุ่มที่เรียนรู้ช้าแต่มีความพยายามมาก บอกเราว่าเมื่อก่อนเขาอ่านไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ดีใจมากที่อ่านได้ และมีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น”
“เมื่อเราสามารถแก้ไขการอ่านไม่ออกของนักเรียน ก็จะช่วยให้พวกเขามีแรงจูงใจและลดอุปสรรคในการเรียนของเขาในอนาคตได้”
อัซวา สรุปความสำคัญของการรู้หนังสือและการอ่านออกเขียนได้สำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทยไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะไปเป็นใครหรือทำอาชีพไหน ภาษาอังกฤษก็จะอยู่รอบตัวเราเสมอ หากเราไม่รู้ก็จงเอาชนะความไม่รู้นั้นและเอาประโยชน์จากมันให้ได้ อย่าอยู่กับความไม่รู้ตลอดไป”
เนื่องในวันการรู้หนังสือสากล ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาคุณภาพที่จะช่วยให้เด็กในประเทศไทยสามารถอ่านออกและเขียนได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นผ่านความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไป
เพราะการศึกษา เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทักษะการอ่านที่ยั่งยืน ที่นี่ www.tft.vh-projects.com