เปลี่ยนความท้าทาย ให้กลายเป็นเติบโต

“ตั้งแต่เป็นครูก็รู้สึกเหมือนได้ก้าวออกจากความเคยชิน (comfort zone) ตลอดเวลา ต้องทำความรู้จักกับนักเรียน ชุมชน และบริบทของโรงเรียน ต้องเรียนรู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร เรียนรู้ด้วยวิธีการไหน ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอทีละชิ้น เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุด”

“สนุ๊ก” – พีรกานต์ ประสิทธินาวา ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 เล่าถึงประสบการณ์กว่า 1 ปีของเธอกับนักเรียนและชุมชนในบริเวณโรงเรียนชิตใจชื่น จังหวัดปราจีนบุรี

     สนุ๊กเชื่อว่าการสร้างคนให้มีคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เธออยากเห็นนักเรียนมีความรู้ความสามารถเพียงพอในการหาเลี้ยงชีพและสามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการได้ 

     แม้จะเต็มเปี่ยมด้วยความตั้งใจ แต่เส้นทางของครูผู้นำฯ ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป สนุ๊กต้องปรับตัวกับบริบทของโรงเรียนที่ไม่คุ้นเคย และทำความเข้าใจนักเรียนตั้งแต่พฤติกรรมไปจนถึงแวดล้อมครอบครัว 

     แต่หนึ่งในปัญหาที่สนุ๊กและครูผู้นำฯ ในโรงเรียนใกล้เคียงเห็นว่ารีบเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด คือ การที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่มีแผนการใช้ชีวิตหลังเรียบจบและขาดข้อมูลเรื่องการศึกษาต่อ รวมถึงจำนวนนักเรียนที่สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็น้อยจนน่าตกใจ

น้ำกรอง กำลังอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

ครูสนุ๊กและครูยู้ฮู ให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้จักตัวเอง และเส้นทางการเรียนต่อ

     “ปี 65 มีเด็กเพียง 10 กว่าคนที่ไปสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนครูผู้นำฯ จึงช่วยกันหาสาเหตุซึ่งเราพบว่ามี 3 ข้อ คือ 

หนึ่ง เด็กไม่มีเป้าหมาย เลยปล่อยให้เวลาผ่านไป 

สอง เด็กบางส่วนมีเป้าหมาย แต่ไม่ได้วางแผนให้ดีพอ เช่น ไม่รู้ว่าคณะที่อยากเข้าต้องใช้คะแนนเท่าไร และจะต้องสมัครอย่างไร 

และสาม มีเด็กประมาณ 30% ที่เลือกเรียนสายอาชีพ หรือไม่เรียนต่อ” 

     สนุ๊กและเพื่อนครูผู้นำฯ จึงร่วมมือกัน โดยมี “ยู้ฮู” – ณัฐชา สมบูรณ์วงศ์ ครูผู้นำ ฯ รุ่นที่ 9 ที่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง และศิษย์เก่าฯ จัดโครงการ  “Road to Your Future” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 

กิจกรรมแนะแนวเส้นทางการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

     “เป้าหมายคือ ให้ความรู้เรื่องคณะ มหาวิทยาลัย และเส้นทางที่เด็กจะสามารถไปต่อยอดอาชีพได้ ซึ่งมีนักเรียนที่สนใจทั้งหมด 68 คนจากสองโรงเรียน โดยเราแบ่งทีมทำงานออกเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้ 

ฝ่ายแนะแนวเส้นทางการศึกษา ทำหน้าที่หาข้อมูลและทำปฏิทินการสมัครสอบให้นักเรียน รวมถึงจัดอบรมเพื่อเตรียมตัวศึกษาต่อ โดยใช้ข้อมูลจากเว็ปไซต์ TCAS, Dek-D, และ Youtube

ฝ่ายทุนการศึกษา ทำหน้าที่แนะนำข้อมูลทุนในปีถัดไป และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักเรียน

ฝ่ายแนะแนวอาชีพและต่อยอดทักษะสำคัญ ทำหน้าที่ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจความชอบความถนัดของตนเอง ผ่านการจัดกิจกรรมที่นำข้อมูลมาจากหลักสูตร Designing Your Life และ A-Chieve รวมถึงกิจกรรมพบปะบุคลากรที่ทำงานจริง เพื่อให้นักเรียนได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม”

     “นักเรียนบอกว่าเขาชอบที่ทางโครงการเตือนว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง และชอบการแนะนำแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ เมื่อนักเรียนได้รู้จักตัวเองและรู้จักเส้นทางการเรียนต่อมากขึ้น ทำให้นักเรียนบางคนมีความมั่นใจและกล้าเลือกคณะที่ตนเองอยากเรียนจริงๆ และอยากให้มีกิจกรรมในวันเสาร์อาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก” สนุ๊กเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมถามคำถามกับวิทยากร

     โครงการ Road to Your Future ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการและติดตามผล แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว คือการที่สนุ๊กได้ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาเป็นครู ที่ต้องการให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการวางแผนชีวิต เชื่อว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ และเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

     ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนสนุ๊ก และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ที่นี่ https://tft-fellowship.org