สร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการไม่หยุดทำในสิ่งที่รัก

ศิษย์เก่าแต่ละคนมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย เช่น การบริหารจัดการ การตั้งบริษัท ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักอาชีพมากขึ้นหรือกลายเป็นอาชีพของเขาในอนาคต รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่คุณครูอาจจะรู้ แต่ไม่มีเวลาสอน หากศิษย์เก่ามาช่วยกันน่าจะปิดช่องว่างตรงนี้ได้” ‘น้ำกรอง’–ชลนภา เหลืองรังษี ศิษย์เก่าโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 6 สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าพลังของศิษย์เก่าทีช ฯ สามารถส่งเสริมการศึกษาไทยเพื่อครูและนักเรียนได้จริงๆ และน้ำกรองเป็นหนึ่งในนั้น ผ่านการจัดกิจกรรม workshop เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

น้ำกรอง กำลังนำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้คิด ตอบ และแสดงความคิดเห็น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

     โดยเธอได้รับการติดต่อจาก ‘ครูอีฟ’ ที่สอนอยู่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้จัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อนักเรียนจำนวน 225 คน

     “หลังจากที่ตกลงรายละเอียดกับครูอีฟแล้ว เราได้มาคุยกับน้องยู้ฮู้และพี่ซิลเวอร์ ครูผู้นำฯ รุ่น 9 ที่สอนอยู่โรงเรียนนี้ เพื่อออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียนมากที่สุด โดยจัดกิจกรรม 1 วันเต็ม มีทั้งนักเรียนและครูเข้าร่วม” 

     “เป้าหมายคือ ให้เด็กๆ เข้าใจสาเหตุของโรคซึมเศร้า วิธีการรักษา การดูแลตนเอง และการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น เราจึงได้ออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ สนุกและได้มีส่วนร่วม สามารถแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นได้อย่างอิสระ”

น้ำกรอง กำลังอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

น้ำกรอง กำลังอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

     น้ำกรองยังเล่าถึงรูปแบบกิจกรรมที่ทำให้เราเห็นภาพความสนุกมากขึ้น

     “กิจกรรมเริ่มจาก ‘check-in’ ด้วยตัวละคนจากภาพยนต์ Inside Out หลังจากนั้นเป็นกิจกรรม ‘เป่ายิงฉุบอารมณ์’ ซึ่งเด็กๆ สนุกกันมาก” 

     “จากนั้น เราจึงเช็กความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เช่น ‘“คนที่สวยรวยเก่ง ไม่มีทางเป็นโรคซึมเศร้าแน่นอน” คำพูดนี้ จริงหรือไม่’ จึงเห็นว่าเด็กๆ คิดแตกต่างกันและทำให้เรารู้ว่าเลือกโจทย์มาได้ดี ค่อยเข้าสู่ช่วงบรรยาย” 

     “สุดท้ายเป็นกิจกรรมแสดงบทบาทสมมติ โดยให้นักเรียนจับคู่กัน รับบทเป็นผู้ให้และผู้รับคำปรึกษา เพื่อฝึกฝนวิธีให้คำแนะนำ โดยวิทยากรคอยสะท้อนให้ฟังว่าคู่นี้ควรที่จะต้องพัฒนาอะไรให้มากขึ้น ซึ่งเด็กๆ ก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด”

น้ำกรอง โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง และนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ถ่ายภาพร่วมกัน (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

     ผลลัพธ์จากกิจกรรม คือ พัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งได้สะท้อนการเรียนรู้ที่มากกว่าการรู้จักโรคซึมเศร้า “มันเซอไพรส์มากๆ ตอนมีเด็กสะท้อนว่าได้รู้จักตนเอง ได้เห็นคุณค่าของตนเองมากยิ่งขึ้นด้วย”

     “คุณครูในโรงเรียนก็มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ผ่านการตั้งคำถามกับวิทยากร แม้แต่ครูอีฟ หรือครูผู้นำฯ ก็อยากที่จะจัดกิจกรรมแบบนี้ในโรงเรียนอีก” 

     น้ำกรองเล่าว่า การดูแลสุขภาพจิตเป็นความชอบส่วนตัวมาตลอดตั้งแต่ปฏิบัติงานเป็นคุณครูผู้นำฯ จนถึงปัจจุบัน

     “ครั้งหนึ่งเราเคยช่วยอบรมพัฒนาเด็กๆ เพื่อเข้าแข่งขัน Youth Counselor (YC) จนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งนักเรียนที่เข้าแข่งก็ใช้สายตา น้ำเสียงและการตั้งคำถาม เหมือนตอนที่เราให้คำปรึกษาเขาเลย” น้ำกรองเล่าด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ 

ในช่วงบ่ายนักเรียนทำกิจกรรมบทบาทสมมติ ฝึกฝนการให้คำปรึกษาเพื่อนๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตจริง ผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรมบทบาทสมมติ เพื่อฝึกให้คำปรึกษากับเพื่อนๆ (ภาพจาก: โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง)

     เธอเชื่อว่า การรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง หรือการจัดการอารมณ์ของตนเองได้นั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกหลายๆ อย่างให้แก่ชีวิตของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วย

     “เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันนำไปสู่การตื่นรู้ในคุณค่าของตนเอง รวมถึงการเป็นพลเมืองดีของสังคม มันคือ Life-Long Learning ที่เราจะต้องเรียนรู้พัฒนาไปทุกวัน”

     ปัจจุบัน น้ำกรองยังคงได้ทำในสิ่งที่เธอรัก คือการเป็นนักจิตวิทยา โดยทำหน้าที่พัฒนาคำสั่ง (prompt) ให้กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET)

     การเชื่อมโยงเครือข่ายครูผู้นำฯ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์และศักยภาพในด้านต่างๆ สามารถช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และเอื้อให้เกิดการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ให้กับโรงเรียนและนักเรียนต่อไปได้ในวงกว้าง เพราะทุกความร่วมมือจะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาค เพื่อให้เด็กในประเทศไทยสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

     ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้วยการสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่นี่ www.tft.vh-projects.com