จากฟีดแบคนักเรียน สู่การยกระดับการเรียนการสอน

การสอนให้นักเรียนรู้ได้ง่าย ถูกใจ และมีกำลังใจในการเรียน ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนที่มีชีวิตชีวา เป็นความฝันของคุณครูหลายคน แต่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากครูไม่ได้เปิดใจและเปิดพื้นที่รับฟัง “ฟีดแบค” จากนักเรียน ซึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนภัทรญาณวิทยา จังหวัดนครปฐม การเก็บข้อมูลความคิดเห็น หรือ “ฟีดแบค” ได้ถูกนำมาใช้และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการมีช่องทางให้นักเรียนสื่อสาร และการเปิดใจเพื่อพัฒนาตนเองของคุณครู ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพและบรรยากาศห้องเรียนที่เข้าอกเข้าใจกัน

     “ครูโอเล่” – พรฤดี โหมดแจ่ม ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และ “ครูหมิว” – กมลวรรณ แก้วสะอาด หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ได้เล่าพัฒนาการของ “ระบบฟีดแบคคุณภาพการเรียนการสอนของครู” ว่า 

     “ระบบฟีดแบคฯ เดิมเป็นระบบสำรวจความเห็นนักเรียน (Student Survey) ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งนักเรียนที่เรียนกับครูผู้นำฯ จะต้องทำทุกคนอยู่แล้ว โดย Student Survey เป็นเหมือนกระจกสะท้อนการทำงานและความเป็นผู้นำผ่านการเป็นครูในโรงเรียน” 

     “ในการทำระบบนี้ ครูโอเล่ได้คัดเลือกคำถามจาก Student Survey เพิ่มข้อมูลส่วนที่ครูทำได้ดีและส่วนที่ครูควรพัฒนาเข้าไป ซึ่งช่วยให้ครูได้รู้ฟีดแบคที่ชัดเจนและตรงจุดมากขึ้น”

     ครูหมิวเล่าว่า “ช่วงแรก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ยังไม่เป็นที่เข้าใจเท่าไร แต่ทางผู้อำนวยการให้นโยบายที่เปิดรับ เมื่อเวลาผ่านไป ครูในโรงเรียนสังเกตเห็นความโดดเด่นของครูผู้นำฯ ในเรื่องการปรับตัว การเรียนรู้ไว จึงเริ่มสนใจในกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนที่ทาง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ นำมาใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือการเก็บฟีดแบคจากนักเรียน”

     ครูหมิวมีความคิดริเริ่มอยากรับฟังฟีดแบค เพราะเห็นว่าครูโอเล่ปรับตัวได้ไวและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ จากการรับฟัง ครูหมิวและครูโอเล่จึงได้ร่วมกันพัฒนา “ระบบฟีดแบคคุณภาพการเรียนการสอนของครู” ขึ้น โดยเริ่มนำร่องจากกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์

     ระบบฟีดแบคฯ ได้รับการปรับปรุงมาเรื่อยๆ พร้อมกับการปรับตัวของครู ในช่วงแรก เริ่มจากการฟีดแบคแบบกลุ่มโดยไม่ระบุชื่อครู ซึ่งยากต่อการพัฒนารายบุคคล ในเทอมถัดมา จึงปรับระบบให้นักเรียนสามารถระบุชื่อครูที่ต้องการฟีดแบคได้

     “ตอนแรกก็รู้สึกเสียใจบ้าง อายบ้าง ไม่เคยรู้ว่าเรามีจุดที่ต้องแก้ไขตรงนี้ เพราะเราเปิดให้ทุกคนอ่านของกันและกันได้หมดเลย ต่อมาเริ่มคุยกัน แชร์กันว่าเราไม่ได้เอาเรื่องการถูกตำหนิมาเป็นจุดสำคัญ จึงเริ่มรับมือกันได้ และรู้สึกดีต่อการรับฟีดแบคมากขึ้น” ครูหมิวเล่า 

     “ซึ่งมันดีนะ บางครั้งเราคิดว่าเราสอนดีแล้ว เต็มที่แล้ว แต่ดีสำหรับเด็กหรือเปล่า เราไม่มีทางรู้เลยถ้าเราไม่ถามเด็กโดยตรง ฟีดแบคที่ได้เหมือนเราเห็นมุมมองของเด็กและรู้ตัวเลยว่าตัวเราต้องพัฒนาไปส่วนไหน” 

     ครูหมิวสรุปผลการนำระบบฟีดแบคฯ มาใช้ว่า “พอเรารู้ว่าเราต้องแก้จุดไหน เราเปลี่ยนวิธีการสอน เอากิจกรรมมาเข้ามาร่วมเยอะๆ ก็ทำให้เด็กไม่ทรมานในการเรียนคณิต พอเขารู้สึกดี ไม่ปิดกั้นในการเรียน  ผลการเรียนเขาก็จะดีขึ้น” 

     “อีกเรื่องที่สำคัญคือ เดิมเราไม่รู้ว่าเด็กรู้สึกอย่างไรกับเรา พอเรารับรู้ เราปรับ เด็กก็จะรู้สึกได้ว่าถูกรับฟัง ว่าความคิดเห็นเขาสำคัญ ว่าครูคุยได้ บรรยากาศมันก็ดีขึ้นตามไปด้วย”

     นอกจากการนำร่องระบบฟีดแบคฯ ครูโอเล่ได้นำความสนใจส่วนตัวเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในกิจกรรมอบรมพัฒนาความเป็นผู้นำช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน มาพัฒนาเป็นเว็ปไซต์สรุปข้อมูล (Dashboard Website) เพื่อติดตามข้อมูลฟีดแบคและภาพรวมผลการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของโรงเรียน

     สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือทุกของทุกฝ่าย ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดรับครูผู้นำฯ จากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เข้ามาในโรงเรียน คุณครูในกลุ่มสาระที่เปิดใจทดลองสิ่งใหม่ ออกความคิดเห็น นักเรียนที่ให้ฟีดแบคอย่างตรงไปตรงมา  และครูผู้นำฯ ประสานความถนัดเข้ากับบริบทโรงเรียน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ทั้งในแง่คุณภาพการศึกษา การมีส่วนร่วมของนักเรียน และการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ที่ www.tft.vh-projects.com