เปลี่ยนความท้าทาย ให้กลายเป็นพลังพัฒนา
“ปกติแล้ว ครูคนอื่นมองนักเรียนกลุ่มนี้ว่าเงียบ ถามอะไรไม่ค่อยตอบและไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรม แต่อิ๋มมองว่าเขามีศักยภาพที่ไม่ได้เอาออกมาใช้ ถ้าได้โอกาสลองน่าจะทำได้” ‘อุ๋มอิ๋ม’ – อาลดา สิงหามาตย์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 10 เล่าถึงหนึ่งในความท้าทายหลังจากเข้าโรงเรียนไม่นาน นั่นคือการพานักเรียนในประจำชั้น 5 คน เข้าประกวดนำเสนอโครงงานโรงเรียนคุณธรรมซึ่งจัดโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ประกอบไปด้วยการทำโครงการ การนำเสนอโครงการ และการตอบคำถาม
การประกวดนี้เป็นความท้าทายใหม่สำหรับนักเรียนที่เธอประจำชั้นอยู่ และสำหรับตัวเธอเองด้วย
โดยสองความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด คือการที่อุ๋มอิ๋มต้องปรับรายชื่อผู้เข้าประกวดบ่อย แม้แต่ช่วงใกล้แข่ง ทำให้มีเวลาซ้อมน้อย รวมถึงความไม่คุ้นเคยกับการพูดนำเสนอในที่สาธารณะของนักเรียนทั้ง 5 คน ที่ปกติแล้วถูกครูท่านอื่นมองว่าเงียบ ถามอะไรไม่ค่อยตอบและไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรม
“แต่อิ๋มมองว่าเขามีศักยภาพที่ไม่ได้เอาออกมาใช้ ถ้าได้โอกาสลองน่าจะทำได้”
ด้วยความเชื่อในการพัฒนา อุ๋มอิ๋มจึงเริ่มฝึกซ้อมทักษะการพูดในที่สาธารณะและการนำเสนอโครงงานให้กับนักเรียนตัวแทน โดยเริ่มจากการสร้างความคุ้นเคย และค่อยๆ เพิ่มความท้าทายให้นักเรียนขึ้นเรื่อยๆ
“นักเรียนไม่เคยทำโครงงานกันมาก่อน เราต้องค่อยๆ ย่อยและป้อนให้เขาลองคิดโดยเราทำหน้าที่เรียบเรียง”
“ระหว่างทางนักเรียนก็มีท้อ ด้วยความที่เขาไม่ถนัดและเพิ่งมาแข่งอะไรแบบนี้ครั้งแรก แต่เราค่อยๆ พูดและค่อยๆ สร้างกำลังใจ ถ้านักเรียนผิดพลาดอิ๋มจะไม่ด่า แต่เน้นให้คำแนะนำ”
“ยิ่งนักเรียนที่ไม่ค่อยมั่นใจ อิ๋มยิ่งให้เนื้อหาเขาเยอะ ทำให้เขาหันมาโฟกัสกับสิ่งที่เขาต้องทำ และตัดความกลัวออกไปได้”
นอกจากการเสริมแรงเชิงบวก อุ๋มอิ๋มยังปรับวิธีการฝึกซ้อม เพื่อดึงศักยภาพของนักเรียนให้เต็มที่และสร้างวินัยการพัฒนาตนเองไปด้วย “อิ๋มจะให้โจทย์นักเรียนทุกวันตอนเย็น ให้กลับไปฝึกซ้อมส่วนที่เขาต้องนำเสนอ และวันรุ่งขึ้นก็มาซ้อมพูดด้วยกัน”
“เรียกว่าใช้การกดดันเชิงบวกก็ได้” เธอเสริม
ในการฝึกตอบคำถาม อุ๋มอิ๋มใช้วิธีสมมติตนเองเป็นกรรมการ เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับการต้องคิดและตอบอย่างรวดเร็ว
“ตอนแรกๆ นักเรียนอาย โยนคำถามไปนักเรียนจะไม่สบตาและไม่ตอบ” อุ๋มอิ๋มเล่าถึงช่วงแรกของการซ้อมตอบคำถาม “อิ๋มเลยเปลี่ยนวิธี ใช้คำถามที่ไม่ทางการ เน้นการพูดคุยเรื่อยๆ เหมือนเพื่อน ให้เกิดความสบายใจ แล้วค่อยแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับโครงงานเข้าไประหว่างบทสนทนาเหล่านั้น”
“กลายเป็นว่าหลายคำถามที่เราซ้อมผ่านบทสนทนาพวกนี้ นักเรียนโดนถามในวันแข่งจริง เลยทำให้ตอบได้”
ผลคือ นักเรียนทั้ง 5 คนของอุ๋มอิ๋มได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ด้วยคะแนนห่างจากผู้ชนะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ผลการแข่งขันไม่ใช่ความสำเร็จเดียวจากการเผชิญกับความท้าทาย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนของอุ๋มอิ๋ม และมุมมองของครูในโรงเรียนต่อนักเรียนกลุ่มนี้
“ก่อนแข่ง นักเรียนพูดกับอิ๋มทุกวันว่าไม่น่าจะทำได้” อุ๋มอิ๋มเล่า “แต่หลังแข่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เอาเข้าจริงก็ทำได้’ แถมตอนหลังยังมาบอกอิ๋มว่า อยากไปแข่งในงานที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกด้วย”
ความสำเร็จของเพื่อนร่วมห้อง ยังทำให้นักเรียนคนอื่นๆ เห็นความเป็นไปได้ และอยากประสบความสำเร็จบ้าง อุ๋มอิ๋มเล่าว่าจากที่นักเรียนไม่กล้าลงชื่อเพราะไม่เคยทำกิจกรรมในลักษณะนี้ กลับเป็นฝ่ายเดินมาหาอุ๋มอิ๋มเอง
“กลายเป็นนักเรียนเดินมาถามอิ๋มว่า มีการแข่งอะไรอีกไหม ถ้ามีลงชื่อให้หนูด้วยนะ” อุ๋มอิ๋มเล่า “นักเรียนอยากทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกับเพื่อนๆ ทั้ง 5 คน คือประกวดและนำเสนอโครงการ กลายเป็นกระตือรือร้นกันขึ้นมาก”
อีกหนึ่งความสำเร็จจากการประกวด คือมุมมองของครูในโรงเรียนที่เปลี่ยนไปต่อนักเรียนทั้ง 5 คน
“มีครูเดินมาชมให้ฟังว่า นักเรียนกลุ่มนี้ให้ความร่วมมือและตอบคำถามในห้องเรียนมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ และเวลาตอบก็ตอบได้รู้เรื่อง มีกระบวนการสื่อสารที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน”
“นักเรียนของอิ๋มบอกว่า พอได้ผ่านการแข่งขันที่ยากมาแล้ว การนำเสนอหรือพูดในห้องก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกแล้ว” อิ๋มเล่าอย่างภูมิใจ
การทำสิ่งที่ท้าทายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว ผลลัพธ์จากการเผชิญกับปัญหายังนำมาซึ่งประสบการณ์ที่ล้ำค่า ต่อยอดเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวของอุ๋มอิ๋ม และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกหลายคน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ส่งเสริมบุคลากรคุณภาพเข้ามาทำงานที่ยากที่สุด นั่นคือการสอน และทำงานร่วมกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เด็กไทยทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาค และกำหนดอนาคตของตนเองได้