ครูร้านกาแฟ
ตามทฤษฎีความเป็นผู้นำของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ การค้นหา “ที่ยืนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง” จะทำให้การส่งเสริมการศึกษาเพื่อเด็กทุกคนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างของการนำทฤษฎีนี้ไปใช้ คือ เรื่องราวของ ฟร้อง-ณัฏฐา ริมฝาย ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า การค้นหาที่ยืน สามารถสร้างความเป็นผู้นำให้แก่คุณครูในโครงการ ฯ และส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนได้อย่างไร
ใช้ร้านกาแฟเป็นที่ยืนเพื่อสร้างอาชีพให้แก่นักเรียนนักเรียน
หลังจากไปดูงานมาหลายที่ ผู้บริหารของโรงเรียนชุมชนวัดทับมาได้เล็งเห็นว่าโรงเรียนน่าจะมีกิจการร้านกาแฟเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน และในภาคเรียนที่ผ่านมานี้ ฟร้องซึ่งมีความสนใจในธุรกิจร้านกาแฟเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของร้านกาแฟ “แต่เราไม่ได้เป็นหัวหน้านะคะ เพราะว่าหัวหน้าต้องเป็นพี่ข้าราชการ แต่ก็มีบทบาทมากขึ้น เพราะว่าพี่หัวหน้าคนเดิมเขาย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งระหว่างรอพี่หัวหน้าคนใหม่ ก็กลายเป็นว่าจะมีเราและทีมพี่ ๆ ครูอัตราจ้าง ที่ต้องช่วยกันดูแลร้าน” ฟร้องเล่าถึงที่มาที่ไป
ต่อสู้กับทุกอุปสรรคเพื่อให้ร้านกาแฟตอบโจทย์การพัฒนาอาชีพ
“เอาเงินก้อนนี้ไปทำให้งอกเงย เติบโต แล้วก็พัฒนาอาชีพให้นักเรียนนะ” เป็นคำพูดที่ฟร้องจำได้ขึ้นใจ หลังจากได้รับเงินก้อนแรกจากทางโรงเรียน ฟร้องจึงตั้งใจบริหารจัดการเงินก้อนดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับร้านกาแฟ เธออธิบายว่า “เงินก้อนนี้มันจะมากก็ไม่มาก จะน้อยก็ไม่น้อย คือพี่คนเก่าในทีม เล่าว่าเมื่อก่อนได้ทุนเยอะกว่านี้ ยังซื้อของไม่ค่อยจะพอ ฟร้องก็ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมมันถึงจะไม่พอ?’ ก็เลยเริ่มถามว่าซื้อของที่ไหน ซื้ออย่างไร ขับรถอะไรไป ไปอย่างไร … คือก่อนหน้าที่ฟร้องจะเข้ามาทำ ร้านก็ไม่ได้ขาดทุนนะคะ แต่เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ต้นทุนที่สูงขนาดนั้นถ้าเราหาอะไรที่มันต้นทุนต่ำได้ เราก็เลยเข้าไปช่วย”
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ฟร้องจึงคิดหาทางลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรให้ร้าน ซึ่งฟร้องมองว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะเป็นเงินหมุนเวียนในร้านแล้ว ยังเป็นสวัสดิการให้นักเรียนและเป็นทุนการศึกษาอีกด้วย “จบเทอมแล้ว นักเรียนที่มาทำงาน ก็จะได้ทุนการศึกษาจากร้านด้วย” ฟร้องเล่าอย่างภูมิใจ
แต่อุปสรรคของร้านกาแฟไม่ได้มีแค่เรื่องผลกำไรเท่านั้น เพราะร้านไม่สามารถพัฒนาอาชีพให้นักเรียนได้ ถ้าไม่มีใครมาทำงาน ฟร้องจึงลงมือเป็นคนขายด้วยตัวเอง เพื่อหาคำตอบว่าทำไมถึงไม่มีนักเรียนคนไหนอยากจะมาทำงานร้านกาแฟ “พอมาดูหน้างานเราก็เลยเข้าใจต้นตอของปัญหาว่าพอมันเป็นการชงน้ำ ต้องล้างแก้วอยู่ตลอดเวลา นักเรียนก็ไม่อยากล้าง แถมมาทำแล้วไม่ได้รับอะไรที่จับต้องได้กลับไป ก็เลยเริ่มหาเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำ”
นอกจากการทำให้งานในร้านกาแฟเป็นเรื่องที่ง่ายและสนุกขึ้นแล้ว พี่ ๆ ในทีมและฟร้องยังมองว่านักเรียน ๆ ควรได้รับค่าตอบแทนด้วย “ก็เลยคุยกับพี่ทุก ๆ คนว่า เรามีสวัสดิการให้เขาไหม ฝึกเหมือนเป็นงานพาร์ทไทม์ร้านกาแฟเลย มีเวลาเข้างาน ครูเวรประจำวันเซ็นให้ นับลายเซ็นละ 20 บาท นักเรียนก็จะเอาลายเซ็นไปแลกค่าแรงในแต่ละวัน คือเขาทำงาน เขาต้องได้เงิน”
ฟร้องยังเล็งเห็นอีกว่า ต้องปรับเปลี่ยนการดูแลบัญชีของร้านเพราะ “เมื่อก่อนต้องเขียนบันทึกลงสมุด เราก็รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ Real time อาจจะสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับคนในทีม เราเลยออกแบบตารางรายรับรายจ่ายให้ แล้วก็โยนขึ้นไปใน Cloud แล้วก็อธิบายว่าแต่ละคนต้องใส่ข้อมูลอะไรในแต่ละวัน ซึ่งทุกคนที่เป็นฝ่ายบริหารของโรงเรียน และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านกาแฟจะดูได้หมดเลยว่ารายรับรายจ่ายแต่ละวันได้เท่าไหร่บ้าง”
ความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นและยาว
ด้วยแรงสนับสนุนจากพี่ ๆ และเพื่อนครูในทีม ฟร้องใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนในการนำเงินก้อนนี้มาบริหารจัดการจนงอกเงยและพัฒนาอาชีพให้กับนักเรียนได้ตามโจทย์ที่เธอได้รับ ปัจจุบัน ฟร้องเล่าว่าร้านกาแฟสามารถดำเนินการได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด “ทุก ๆ คนในร้านอยู่โดยไม่มีฟร้องเลยก็ได้ ถ้าสมมุติว่าวันหนึ่งเราออกไป เขาทำ Packaging เองได้ ทำบัญชีของเขาเองได้ ทุกวันนี้นักเรียนมาทำงานเต็มร้านเลย เขารู้สึกว่างานไม่ได้หนักขนาดนั้น แล้วค่าตอบแทนก็ดี วันละ 20 บาท 5 วันก็ 100 บาท ซึ่งมันเยอะมากสำหรับนักเรียนโรงเรียนนี้” ฟร้องเล่าอย่างภาคภูมิใจ
นอกเหนือจากค่าตอบแทนแล้ว นักเรียนยังได้รับทักษะติดตัวเพื่อพัฒนาอาชีพต่อไปในระยะยาว โดยฟร้องอธิบายว่าการที่นักเรียนมาทำงานร้านกาแฟนั้น ทำให้ “เขาได้จัดการชีวิตตัวเอง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีบทบาทในชีวิตตัวเอง ได้เรียนรู้เยอะกว่าเพื่อนที่อยู่ในชั้นเดียวกัน … ทุก ๆ งานต้องการประสบการณ์ ถ้านักเรียนได้ลองทำตั้งแต่ ม. 1 ถึง ม. 3 นักเรียนจะมีประสบการณ์ 3 ปีในการทำงานในร้านกาแฟ มันก็ได้ทักษะติดตัวไป เขาสามารถเอาไปต่อยอดได้”
แล้วฟร้องได้อะไร?
การที่ฟร้องหาที่ยืนของตัวเองจนเจอและรับบทเป็น “ครูร้านกาแฟ” นั้น ทำให้เธอได้เรียนรู้และเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งการทำงานและบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นพี่ครู เพื่อนครู หรือนักเรียน “ฟร้องได้บทเรียนที่เอาไว้ปรับใช้กับคนรอบตัว ว่าเราควรจัดการกับคนประเภทไหนอย่างไร” ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญทั้งต่อการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอีก 1 ปีที่เหลือ และต่อหน้าที่การงานของเธอในอนาคต
นอกจากนี้ ฟร้องยังได้รู้จักตัวเองในมุมใหม่ที่เธอไม่เคยเห็น “ฟร้องได้เรียนรู้ว่า ตัวเองก็สามารถบริหารจัดการอะไรได้ เมื่อก่อนฟร้องจะหงุดหงิดเวลาที่ทำอะไรแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ ไม่ Perfect แต่พอมาทำตรงนี้ฟร้องได้เรียนรู้ว่า มันไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามใจเราทุกอย่าง เราต้องหย่อนบ้าง”
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น คือฟร้องได้พัฒนาความเป็นผู้นำและเข้าในความสำคัญของการ “มีที่ยืน” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะ “ถ้าเราไม่ทำ มันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เรารู้สึกว่ามันดีได้กว่านี้อีก ดังนั้นเราก็เลยต้องมีความเป็นผู้นำ ได้ปั้นความเป็นผู้นำในตัวเองขึ้นมา”
เรื่องราวของ “ครูร้านกาแฟ” คนนี้ ทำให้เห็นว่าการ “หาที่ยืนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” และพัฒนาความเป็นผู้นำนั้น มีหลากรูปแบบ หลายสถานการณ์ แต่มุ่งสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ นั่นคือการที่เด็กในประเทศไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ทำให้สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้นั่นเอง